วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย 2

  ส่วน โฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก นั้นต้องไปประเมินราคามาให้เรียบร้อยใบประเมินราคาที่ดิน
ต้องยื่นให้เจ้าหน้าที่ศาลด้วย และจะต้องวาดรูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินโดย แผนที่ให้รู้ว่าทางไปที่ดินนั้นเริ่มตรงไหนไปอย่างไร จนถึงตำแหน่งที่ที่ดินตั้งอยู่ แล้วยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรงประกัน

             และหากนายประกันเป็นญาติก็ควรเขียนคำร้องขอประกันยื่นด้วยโดยแจ้งให้ศาลทราบว่า
นายประกันเกี่ยวพันกับจำเลยโดยเป็นญาติ เช่นเป็นบิดามารดา ลุงป้าน้า อา และนายประกันเชื่อว่า
จำเลยจะไม่หลบหนีโดยจะดูแลจำเลยและนำตัวจำเลยมาส่งศาลตามนัดทุกครั้งไป

            หากยื่น ประกันโดยใช้ตำแหน่งประกัน ก็ให้นำหนังสือรับรองเงินเดือนของต้นสังกัดมาแสดงด้วยพร้อมด้วยสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ และสำเนาใบทะเบียนบ้านของนายประกัน เจ้าหน้าที่ศาลจะเขียนคำร้องฯให้ และหากนายประกันเป็นญาติกับจำเลยก็ควรเขียนคำร้องขอประกันด้วยโดยแจ้งให้ศาลทราบว่า ผู้ขอประกันเป็นญาติ จำเลย หากศาลให้ประกันจำเลยในระหว่างพิจารณาคดี นายประกันจะดูแลและนำตัวจำเลยมาศาลตามนัดพิจารณาคดีทุกครั้งไป

                เมื่อยื่นประกันแล้วรอฟังคำสั่งศาล ว่า อนุญาตให้ประกันหรือไม่
                หากศาลอนุญาตก็ดีไป
                แต่หากศาลไม่อนุญาต ต้องดูเหตุผลว่าไม่อนุญาตเพราะอะไร และหากว่าหลักทรัพย์ที่ยื่นนั้น
น้อยเกินไปก็ควรเพิ่มหลักทรัพย์และ ยื่นเรื่องของประกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วรอฟังคำสั่งศาล ว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาต

               แต่หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกันอีก นายประกันควรจะ ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ ในการเขียนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้น จะต้องบรรยายว่า ยื่นเมื่อไหร่ ศาลชั้นต้นสั่งว่าอย่างไรครั้งแรก และครั้งหลังสั่งว่าอย่างไร  โดยให้เหตุผลว่า นายประกันไม่เห็นพ้องด้วยโดยแสดงเหตุผลและขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี โดย ลงชื่อนายประกันในคำร้องทางเจ้าหน้าที่ศาลจะนัดนายประกันมาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์

              หากศาลอุทธรณ์อนุญาตก็ดีไป หากมีคำสั่งไม่อนุญาต ก็ควรดูคำสั่งศาลอุทธรณ์ ว่าไม่อนุญาต
เพราะเหตุใด
              หากศาลอุทธรณ์ ไม่อนุญาต ให้ประกัน นายประกันมีสิทธิ ขอยื่นประกันใหม่ ต่อศาลชั้นต้นได้อีกเพราะกฎหมายอนุญาตให้ยื่นได้ แต่ทางที่ดี แนะนำให้รอไปก่อน โดยให้สืบพนายไปบางปากก่อนเพื่อดูว่าพยานที่เบิกความนั้นให้การถึงตัวจำเลยหรือไม่ และหากพยานให้การไม่พาดพิงถึงตัว จำเลย ก็ค่อยมายื่นขอประกันใหม่โดยชี้ให้ศาลเห็น ว่า คำเบิกความของพยาน โจทก์ เมื่อวันที่ เดือน พ.ศ. นั้นน่าสงสัยอย่างไรและไม่พาดพิงหรือกล่าวถึงตัวจำเลยเลย เมื่อยื่นประกันใหม่ก็รอฟังคำสั่งศาลชั้นต้น การอนุญาตหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล

             ต่อไป จะพูดถึง การประกันตัวจำเลยต่อศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกจำเลยแล้วจำเลยมีสิทธิยื่นขอประกันในชั้นอุทธรณ์ได้

              จะพูดในคดียาเสพติดก่อน หากจำเลยให้การรับสารภาพ ถ้าเป็นเพียงผู้เสพและของมีปริมาณน้อยและโทษที่ศาลลงนั้นไม่เกิน 3 ปี ศาลอาจอนุญาตให้ประกัน การยื่นประกันให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ทำ
การพิจารณาคดี โดย ศาลชั้นต้น จะสั่งอนุญาตเองหรือจะสั่งว่าส่งศาลอุทธรณ์ เป็นผู้สั่งก็ได้ เนื่องจากคดียาเสพติดมีเพียง 2 ศาลเท่านั้น ไม่ว่า ศาลสั่งว่าอย่างไรก็จบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะขอยื่นประกันใหม่ได้อีก และหากจำเลยให้การสู้คดีในคดียาเสพติดแต่ศาลชั้นต้นจำคุกไม่เกิน 3 ปี จำเลยก็มีสิทธิยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ได้ กรณีก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น

               และหากเป็นคดียาเสพติดที่ของกลางมีปริมาณมากและจำเลยให้การรับสารภาพหรือสู้คดีก็ตามโดยปกติแล้วศาลจะไม่ให้ประกันตัว การที่จำเลยหรือญาติหรือบุคคลอื่นใดก็ตามมายื่นขอประกันนั้นขอบอกว่า อย่ายื่นดีกว่า เพราะศาลไม่ให้ประกันอยู่แล้ว

                จะขอพูดคดีอาญาทั่ว ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว ไม่ว่าจะจำคุกเท่าไหร่ก็ตาม จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันต่อศาลอุทธรณ์ได้โดยยื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้น จะสั่งเองหรือจะส่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่งก็ได้ และหาก ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งไม่อนุญาต ก็ควรดูคำสั่งก่อนว่าศาลสั่งว่าอย่างไร และหากไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาล ฯ ที่ไม่อนุญาตให้ประกันไปศาลฎีกาได้ต่อไป แล้วค่อยฟังคำสั่งศาลในภายหลังต่อไปโดยทางเจ้าหน้าที่ศาลจะแจ้งให้ทราบว่าให้มาฟัง
คำสั่งศาลวันไหน ก็มาฟังตามนัด  หากศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ก็ไม่ตัดสิทธิ จำเลยที่จะยื่นขอประกันใหม่ได้เพราะเป็นสิทธิที่ทำได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว

                 เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว หากพิพากษาจำคุกจำเลย จำเลยก็มีสิทธิยื่นประกันในระหว่างฎีกาได้อีก การยื่นขอประกันให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะสั่งหรือจะส่งให้ศาลฎีกาสั่งก็ได้ไม่ว่าศาลจะสั่งว่า อย่างไร โดยเฉพาะไม่อนุญาตนั้น ก็จบแล้ว แต่ไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะยื่นขอประกันใหม่ได้อีก

กลับไปอ่าน ตอนที่ 1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น