วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กู้ยืมเงิน

                          พูดถึงลูกหนี้เงินกู้นะคับ เมื่อท่านเป็นหนี้กู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของลูกหนี้ถูกต้องแล้ว การที่เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินจะฟ้องได้ต่อเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระหมายความว่าระบุเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนว่าวันที่เท่าไหร่เดือนอะไร พ.ศ.อะไร ด้วย หากไม่ระบุไว้ เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนและให้เวลาพอสมควร อาจประมาณ หนึ่งเดือน

                          ส่วนการต่อสู้คดีกู้ยืมเงินนั้น เนื่องจากลูกหนี้เงินกู้ไปเอาเงินของเขาไปจริง คงต้องยอมรับ แต่อาจจะสู้ได้ในเรื่องดอกเบี้ยเพราะกฎหมายกำหนดห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (บุคคลธรรมดาทั่ง ๆ ไป ไม่เกินร้อยละ ๑๕ ต่อปี )  เมื่อท่านถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีกู้ยืมเงิน ทางที่ดี ควรจะไปขอผ่อนชำระหนี้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและท่านต้องผ่อนชำระตรงตามเวลาที่กำหนดด้วยไม่เช่นนั้น เจ้าหนี้ก็จะทำการบังคับคดีต่อไป  

                          จะพูดถึงปัญหาในความเป็นจริงนะคับ เมื่อท่านเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้ว เจ้าหนี้ก็จะสั่งให้ท่านเขียนเช็คสั่งจ่ายเงินเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวด้วยโดยระบุไว้ในสัญญากู้ด้วยเลยและหากลูกหนี้คนใดเขียนเช็คให้ไปตามที่เจ้าหนี้สั่งมา ผลที่ตามมาคือว่า เมื่อหนี้กู้ยืมเงินถึงกำหนดเจ้าหนี้ก็จะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินที่ธนาคารและเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน

                          เจ้าหนี้ก็จะ ฟ้อง ท่านลูกหนี้เงินกู้เป็นคดีอาญาตาม พระราชบัญญัติความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ซึ่งจะมีโทษ เป็นคดีอาญาและอาจจะต้องติดคุกทั้งนี้ก็เพื่อบีบให้ลูกหนี้หาเงินมาชำระหนี้ให้ทั้งหมดโดยเร็ว เป็นการบีบบังคับลูกหนี้ที่ได้ผลเร็วที่สุดเพราะหากไม่ชำระหนี้ก็ต้องติดคุก  ความเห็นส่วนตัว ของท่านที่เป็นลูกหนี้ทั้งหลายในเรื่อง กู้ยืมเงิน ควรคิดให้ดีนะคับเพราะเป็นหนี้เงินกู้ไม่ติดคุก แต่หากเสียรู้เจ้าหนี้ โดยไปเขียนเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้เข้าจากคดีแพ่งธรรมดาทั่วๆไป ก็จะเปลี่ยนเป็นคดีเช็ค(เป็นคดีอาญา) และอาจจะต้องติดคุกหากท่านไม่รีบหาเงินมาชำระหนี้

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ความรับผิดของนายประกันต่อศาล

                     นายประกันมีหน้าที่ต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาลตามนัดพิจารณาคดีทุก ๆ ครั้ง และหากจำเลยไม่มาศาลตามที่นัดพิจารณาคดีนายประกันก็ควรแจ้งสาเหตุให้ศาลทราบ ศาลจะพิจารณาว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ หากพิจารณาแล้วไม่มีเหตุสมควร ศาลจะมีคำสั่ง ปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกันและออกหมายจับจำเลยต่อไป

                     ทางแก้ของนายประกัน คือ จะต้องไปรีบหาตัวจำเลยมาส่งศาลเพราะหากปล่อยให้นานไปศาลอาจจะไม่ลดค่าปรับให้นายประกัน และหากพบตัวจำเลยแล้ว ควรนำตัวจำเลยมาส่งที่ศาลและนายประกันควรเขียนคำร้องแจ้งให้ศาลทราบ เพื่อศาลจะสอบถามจำเลยว่า เพราะเหตุใดไม่มาศาลมีเหตุผลพอสมควรหรือไม่ หากมีเหตุผลสมควรและใช้เวลาไม่นานเพียง 15 วัน หรือ 1 เดือน ศาลอาจจะสั่งงดปรับนายประกันก็ได้ แต่หากนานหลาย ๆ เดือนหรือเป็นปี ๆ ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลเป็นราย ๆ  ไป

                     หากคดีอยู่ในศาลชั้นต้น และจำเลยไม่มาศาลไม่แจ้งสาเหตุให้ทราบและศาลมีคำสั่งปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกันไปแล้ว เมื่อนายประกันนำตัวจำเลยมาส่งศาลแล้ว ก็ควรเขียนคำร้องแจ้งให้ศาลทราบ ศาลจะสอบถามจำเลยถึงสาเหตุ แล้วจะพิจารณาสั่งต่อไป

                     และถ้าหากศาลยังมีคำสั่งปรับนายประกันเต็มตามสัญญาหรือไม่ทั้งหมดก็ ตาม ไม่ตัดสิทธิของนายประกันที่จะยื่นคำร้องของดปรับหรือขอลดค่าปรับต่อศาลอุทธรณ์ได้

                    หากจำเลยไม่มาศาลเพราะ จำเลยตาย นายประกันควรเขียนคำร้องและแนบใบมรณะ
บัตรของจำเลยด้วย เพื่อที่ศาลจะพิจารณาสั่งต่อไปและหาก จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ศาลจะสั่งปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกัน นายประกันมีหน้าที่จะต้องรีบไปพาตัวจำเลยมาส่งศาลโดยเร็วไว เพราะหากปล่อยให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยแล้ว ศาลจะไม่รดค่าปรับให้นายประกัน

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย 2

  ส่วน โฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ก นั้นต้องไปประเมินราคามาให้เรียบร้อยใบประเมินราคาที่ดิน
ต้องยื่นให้เจ้าหน้าที่ศาลด้วย และจะต้องวาดรูปแสดงตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินโดย แผนที่ให้รู้ว่าทางไปที่ดินนั้นเริ่มตรงไหนไปอย่างไร จนถึงตำแหน่งที่ที่ดินตั้งอยู่ แล้วยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรงประกัน

             และหากนายประกันเป็นญาติก็ควรเขียนคำร้องขอประกันยื่นด้วยโดยแจ้งให้ศาลทราบว่า
นายประกันเกี่ยวพันกับจำเลยโดยเป็นญาติ เช่นเป็นบิดามารดา ลุงป้าน้า อา และนายประกันเชื่อว่า
จำเลยจะไม่หลบหนีโดยจะดูแลจำเลยและนำตัวจำเลยมาส่งศาลตามนัดทุกครั้งไป

            หากยื่น ประกันโดยใช้ตำแหน่งประกัน ก็ให้นำหนังสือรับรองเงินเดือนของต้นสังกัดมาแสดงด้วยพร้อมด้วยสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ และสำเนาใบทะเบียนบ้านของนายประกัน เจ้าหน้าที่ศาลจะเขียนคำร้องฯให้ และหากนายประกันเป็นญาติกับจำเลยก็ควรเขียนคำร้องขอประกันด้วยโดยแจ้งให้ศาลทราบว่า ผู้ขอประกันเป็นญาติ จำเลย หากศาลให้ประกันจำเลยในระหว่างพิจารณาคดี นายประกันจะดูแลและนำตัวจำเลยมาศาลตามนัดพิจารณาคดีทุกครั้งไป

                เมื่อยื่นประกันแล้วรอฟังคำสั่งศาล ว่า อนุญาตให้ประกันหรือไม่
                หากศาลอนุญาตก็ดีไป
                แต่หากศาลไม่อนุญาต ต้องดูเหตุผลว่าไม่อนุญาตเพราะอะไร และหากว่าหลักทรัพย์ที่ยื่นนั้น
น้อยเกินไปก็ควรเพิ่มหลักทรัพย์และ ยื่นเรื่องของประกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง แล้วรอฟังคำสั่งศาล ว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาต

               แต่หากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ประกันอีก นายประกันควรจะ ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ ในการเขียนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้น จะต้องบรรยายว่า ยื่นเมื่อไหร่ ศาลชั้นต้นสั่งว่าอย่างไรครั้งแรก และครั้งหลังสั่งว่าอย่างไร  โดยให้เหตุผลว่า นายประกันไม่เห็นพ้องด้วยโดยแสดงเหตุผลและขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี โดย ลงชื่อนายประกันในคำร้องทางเจ้าหน้าที่ศาลจะนัดนายประกันมาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์

การประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย 1

บุคคลที่มีสิทธิประกัน มี  1) ผู้ต้องหาหรือจำเลย
                                        2) บิดามารดาหรือญาติหรือบุคคลภายนอก

             หากผู้ต้องหาหรือจำเลย ยื่นขอประกันเอง อาจจะไม่สะดวกเพราะถูกจับแล้วหมดอิสรภาพ
ทางที่ดี ควรให้ญาติหรือบุคคลภายนอกยื่นขอประกันให้จะดีกว่า
              ขอพูดเรื่องหลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน มีหลายอย่าง แต่จะพูดเพียงบางอย่างเท่านั้นเช่น
                                         1)  เงินสด
                                         2)  โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก
                                          3)  บุคคลโดยใช้ตำแหน่งประกัน

               การประกันด้วย เงินสด จะสะดวกที่สุด ส่วนการประกันด้วยโฉนดที่ดิน หรือ น.ส.3 ก นั้น
จะต้องไปประเมินราคาที่ดินก่อน ที่สำนักงานที่ดิน ฯ  แล้วนำใบประเมินราคาที่ดินนำมายื่นขอประกันด้วย ส่วนการประกันบุคคลโดยใช้ตำแหน่งนั้น จะต้องให้ต้นสังกัดที่เจ้าตัวทำงานอยู่ออกหนังลือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนด้วยว่ามีรายได้เดือนละเท่าไหร่แล้วนำมายื่นขอประกัน

                 การประกันชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ ก็ให้ญาติหรือบุคคลที่จะประกันไปสอบถามเจ้าหน้าที่
ตำรวจว่า คดีเรื่องนี้ ( บอกข้อหาให้เจ้าหน้าที่ทราบ) จะต้องใช้หลักทรัพย์หรือเงินประกันเท่าไหร่ เมื่อทราบแล้ว ก็นำเอกสารมายื่น ประกอบด้วย 1)สำเนา บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ต้องหา  2)สำเนา
ใบทะเบียนบ้านของผู้ต้องหา )  3)สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะยื่นประกัน  4)สำเนาใบ
ทะเบียนบ้านของผู้ยื่นประกัน   และ โดยเฉพาะโฉนดที่ดินหรือ น.ส.3 ก นั้น จะต้องมีสำเนาบัตร
บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาใบทะเบียนบ้านของคู่สมรสด้วย เพราะคู่สมรสต้องมาเซ็นชื่อยิน
ยอมด้วยหากไม่มาต้องมีหนังสือยินยอมของคู่สมรสมาแสดง และเอกสารดังกล่าวต้องเซ็นรับรองสำเนา
ถูกต้องด้วยโดยเอกสารของใครก็ให้คนนั้นเซ็น (ถ่ายสำเนาใบทะเบียนสมรสมาด้วย)

                หากประกันชั้นเจ้าพนักงานอัยการก็เช่นเดียวกับชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ ใช้เอกสารอย่างเดียวกัน